SEARCH SITE BY TYPING (ESC TO CLOSE)

Skip to Content

งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา

งานประเพณีงานบุญทางพุทธศาสนาที่ชาวอุบลราชธานียึดถือปฏิบัติมานานนับร้อยปี จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา หรือในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ชุมชนจากทั่วจังหวัดจะร่วมกันจัดขบวนแห่เทียนพรรษาสุดอลังการ ฝีมือการแกะสลักเทียนขนาดใหญ่และตกแต่งอย่างประณีต เนรมิตออกมาเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีและถ่ายทอดเรื่องราวพุทธประวัติ ออกมาได้อย่างอ่อนช้อย พร้อมด้วยขบวนฟ้อนรำ และการละเล่นพื้นบ้านที่สร้างสีสันเคียงคู่มาด้วยกัน โดยจะเคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนนและมาสิ้นสุดที่ทุ่งศรีเมือง จากนั้นจะนำเทียนพรรษาไปถวายวัดต่าง ๆ ในจังหวัด เพื่อสร้างบุญกุศล ให้มีความสุข ชีวิตสว่างไสวดั่งเปลวเทียนที่โชติช่วง

วัดทุ่งศรีเมือง

ตั้งอยู่ที่ถนนหลวงในเขตเทศบาลเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สร้างวัดนี้คือ ท่านเจ้าอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบล คณะภิบาลสังฆปาโมก (สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี ในสมัยนั้นท่านได้เคยศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดสระเกศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ท่านจึงได้นำพระพุทธบาทจำลองจากวัดสระเกศฯ มายังอุบลราชธานี และได้สร้างหอพระพุทธบาทขึ้นเป็นที่ประดิษฐาน หอพระพุทธบาทหลังนี้คือ พระอุโบสถที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีลักษณะของศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น และศิลปะเวียงจันทน์ผสมกันอยู่ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ทุกด้านเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อาคารที่สำคัญอีกหลังหนึ่งคือ หอพระไตรปิฎก เป็นหอไตรที่สร้างด้วยไม้ ตั้งอยู่กลางสระน้ำเพื่อเป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ป้องกันไม่ให้มดปลวกไปกัดทำลาย มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว กล่าวคือ ลักษณะอาคาร เป็นแบบไทยเป็นเรือนฝาปะกน ภายในห้อง เก็บตู้พระธรรม ส่วนของหลังคามีลักษณะศิลปะไทยผสมพม่าคือมีช่อฟ้าใบระกา หลังคาซ้อนกันหลายชั้น ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้ง 2 ด้าน เป็นลักษณะศิลปะแบบลาว ตรงส่วนฝาปะกนด้านล่างแกะเป็นรูปสัตว์ประจำราศี ต่าง ๆ และลวดลายพันธุ์พฤกษาเป็นช่อง ๆ โดยรอบ นับเป็นหอไตรที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง

วัดหนองป่าพง

วัดหนองป่าพง หรือ วัดป่าฝ่ายอรัญวาสี สร้างขึ้นโดยพระโพธิญาณเถรหรือหลวงปู่ชา สุภทฺโท พระมหาเถระที่สำคัญองค์หนึ่งของภาคอีสาน ถือเป็นสำนึกปฏิบัติธรรมท่ามกลางธรรมชาติอันสงบเงียบ รายล้อมด้วยป่าไม้บรรยากาศร่มเย็น เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อให้เข้าถึงความรู้สึกสงบด้วยจิตบริสุทธิ์เบิกบาน มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญคือ พระอุโบสถหลังใหญ่ ที่อิงแอบธรรมชาติ ในรูปแบบสมัยใหม่ผสมพื้นบ้านอีสาน โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ความงดงามอยู่ที่เสาอาคารและผนัง มีการตกแต่งด้วยภาพดินเผาเกี่ยวกับพระภิกษุที่กำลังเดินธุดงค์ และปูชนียสถานสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) จัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ชา ของสะสม และของใช้โบราณที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด รวมไปถึงประวัติและหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ชาด้วย อีกสถานที่น่าสนใจภายในวัดคือ เจดีย์พระโพธิญาณ ที่ในตอนแรกสร้างฐานไว้เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ชา ภายหลังจึงได้มีการสร้างเจดีย์แบบถาวรขึ้นบนฐาน ภายในเจดีย์มีอัฐิของหลวงปู่ชาให้เข้าไปกราบสักการะได้

วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่)

วัดมหาวนาราม (พระอารามหลวง) วัดพระอารามหลวงคณะมหานิกายแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดป่าใหญ่ สถานที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา สร้างเมื่อปี 2350 ก่อด้วยอิฐถือปูนและลงรักปิดทองพุทธลักษณะงดงาม ขนาดหน้าตักกว้างราว 3 เมตร สูงราว 5 เมตร อยู่ภายในพระวิหารสีหินทรายหลังงาม และยังมีศิลาจารึกใบเสมาหินทรายทรงใบพาย ปรากฏอักษรธรรมอีสานบอกเล่าถึงประวัติการก่อสร้างวัดและพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง รวมกับศิลาจารึกโบราณอื่น ๆ อีก ทั้งสิ้น 7 หลักด้วยกัน โดยในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ประมาณเดือนเมษายน ถือเป็นวันเฉลิมฉลองพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง ชาวอุบลจะเดินทางมากราบขอพรกันอย่างเนืองแน่น

วัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว เป็นวัดนิกายธรรมยุตที่สำคัญของจังหวัด สถาปัตยกรรมอันเป็นจุดเด่นของวัดแห่งนี้คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ หรือที่ชาวอุบลเรียกกันว่าพระธาตุหนองบัว สร้างขึ้นในปี 2500 มีการจำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนา ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามฝาผนังประดับลวดลายปูนปั้นสีขาวสลับทองเป็นรูปพระพุทธเจ้าในปางต่าง ๆ สูงจนถึงยอดเจดีย์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยทั้ง 4 มุม ของกำแพงประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ประดับลายรูปเทพพนมและลายกนกสีทองงดงาม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ในอดีตสถานที่แห่งนี้เคยเป็นศาลากลางของจังหวัดอุบลราชธานีมาก่อนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ผังอาคารเป็นเรือนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงโบราณนิยม หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ใต้กรอบหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปดอกบัว เหนือกรอบประตูและหัวเสารับชายคาที่ระเบียงเป็นไม้ฉลุลายดอกไม้ นับเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นในปี 2532 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทศาลากลางหลังเก่านี้ ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ศูนย์ศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จัดแสดงนิทรรศการถ่ายทอดเรื่องราวด้านต่าง ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และชาติพันธุ์วิทยาพร้อมกับรวบรวมศิลปะและโบราณ วัตถุต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ชม


to-topto-top